เปิดเทอมนี้ระวังเด็กป่วย “โรคมือ เท้า ปาก”

แนะผู้ปกครองและสถานศึกษา เปิดเทอมนี้ระวังเด็กป่วย “โรคมือ เท้า ปาก”

          “โรคมือ เท้า ปาก” มักพบในช่วงฤดูฝนที่มีสภาพอากาศเย็นและชื้น ทำให้เชื้อโรคเจริญเติบโตได้ดี พบมากในกลุ่มเด็กเล็ก จึงขอให้ผู้ปกครองและครูดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด คัดกรองและสังเกตอาการของเด็ก ก่อนเข้าเรียน เพื่อเฝ้าระวังการป่วยด้วยโรคมือ เท้า ปาก รวมไปถึงโรคโควิด-19 ด้วย โรคมือ เท้า ปาก จะพบมากในกลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งมีภูมิคุ้มกันต่ำ สามารถติดต่อจากการ ได้รับเชื้อไวรัสเข้าทางปากโดยตรง โดยเชื้อไวรัสจะติดมากับมือหรือของเล่นที่เปื้อนน้ำมูก น้ำลาย น้ำจาก แผลตุ่มพองหรืออุจจาระของผู้ป่วย หรือติดต่อจากการไอ จาม รดกัน ลักษณะอาการหากผู้ป่วยได้รับเชื้อ จะมีอาการ เช่น มีไข้ต่ำ ๆ อ่อนเพลีย และต่อมา 1-2 วัน จะมีอาการเจ็บปาก ร่วมกับมีตุ่มพองเล็ก ๆ บริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า ตุ่มแผลในปาก ที่เพดานอ่อน กระพุ้งแก้ม ลิ้น ต่อมาจะแตกออกเป็นแผลหลุมตื้นๆ หากอาการไม่ดีขึ้นหรือมีไข้ขึ้นสูง ซึมลง เดินเซ ชักเกร็ง หายใจหอบเหนื่อย อาเจียนมาก ต้องรีบไปพบแพทย์ โดยเร็ว เพราะอาจเป็นเชื้อชนิดรุนแรง และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ หากพบว่ามีอาการข้างต้น ควรหยุดเรียน และรักษาจนหาย และแจ้งให้ทางโรงเรียนและศูนย์เด็กเล็กทราบเพื่อทำการค้นหาเด็กที่อาจป่วยเพิ่มเติม

วิธีป้องกัน

1. ให้ผู้ปกครองคัดกรองอาการของเด็ก ก่อนมาโรงเรียน หากเด็กไม่สบายหรือมีไข้ ควรพาไปพบ แพทย์และให้พักอยู่ที่บ้าน

2. ให้เด็กสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย ซึ่งเชื้อโรคมือ เท้า ปาก จะอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย น้ำ จากแผลตุ่มพองหรืออุจจาระของผู้ป่วย หรือเมื่อผู้ป่วยไปจับของเล่น ของใช้จะทำให้เชื้อกระจายสู่ผู้อื่นได้ หากลดการสัมผัส จะสามารถป้องกันการรับเชื้อได้

3. หมั่นทำความสะอาดพื้นที่ที่เด็กใช้ร่วมกัน ของใช้ ของเล่นเด็กเป็นประจำ เพื่อลดเชื้อโรคที่อยู่ใน สิ่งแวดล้อม

4. หมั่นให้เด็กล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจล ทั้งก่อนและหลังรับประทาน อาหารหรือเข้าห้องน้ำ เพื่อลดเชื้อสะสมบนมือและลดการแพร่สู่ผู้อื่น

5. การทำกิจกรรมต่าง ๆ ควรเป็นกลุ่มเล็ก ๆ มีการเว้นระยะห่างระหว่างกันอย่างน้อย 1-2 เมตร

6. หากพบเด็กป่วยขอให้แยกออกจากเด็กปกติและแจ้งให้ผู้ปกครองรับกลับบ้าน ควรให้หยุดเรียน และพาไปพบแพทย์โดยเร็ว แยกของใช้ส่วนตัวเด็กป่วยออกจากเด็กปกติ และไม่ควรคลุกคลีกับคนอื่น ๆ ใน ครอบครัวหรือชุมชน เพื่อชะลอการแพร่กระจายของเชื้อโรค

ทั้งนี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422